หากการเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน บุกเบิกลงทุนไบโอดีเซลในปี 2549 ยุคที่น้ำมันเชื้อเพลิงยังพุ่งทะยาน เป็นคลื่นลงทุนแรกของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)ตามมาด้วยคลื่นลงทุนที่ 2 สู่พลังงานสะอาด ทั้งลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งมีความยั่งยืน และไม่ส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อม
เพราะฉะนั้น การโดดเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน น่าจะเป็น third wave ยกระดับบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ที่คุ้นเคยในชื่อ EA ไปอีกสเต็ปหนึ่งเลยทีเดียว
เนื่องจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน คือ ต้นน้ำไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้าสะอาด ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า, energy storage ซึ่งล้วนแต่เป็นเทรนด์โลกในอนาคต
เดินหน้าแบตเตอรี่ลิเทียมเต็มตัว ที่ผ่านมา EA นำร่องธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนไปบ้างแล้ว อาทิ สถานีอัดประจุไฟฟ้า (หัวชาร์จ) สำหรับรถยนต์ EV ไฟฟ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้า EA Anywhere โดยที่ล่าสุด EA จับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับเชฟรอน, บริดจสโตน, ซีพี ออลล์ และโรบินสัน ด้วยเป้าหมายสถานีชาร์จ 1,000 แห่งในปีนี้
ในขณะที่รถยนต์ EV ภายใต้ชื่อ Mine Mobility ซึ่งมียอดจับจองช่วงเปิดตัวในงาน
มอเตอร์โชว์ที่ผ่านมาถึง 4,558 คัน บวกเข้ากับเรือไฟฟ้ารับส่งผู้โดยสารใน
แม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่งเปิดตัวไป
ทั้งรถ EV และเรือไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้น EA เคลมด้วยว่า ออกแบบและพัฒนาโดยฝีมือคนไทย รวมถึงมีโอกาสที่ Mine Mobility จะเป็นรถ EV ที่ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินการในเมืองไทยทั้ง 100%
อย่างไรก็ตาม การก้าวสู่เป้าหมายดังกล่าว คือ เหตุผลสำคัญทำให้ EA แสวงหาเทคโนโลยีและโนว์ฮาวการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน
และมีบทสรุปที่การเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัท Amita Technologies ผู้นำในธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนโพลิเมอร์ ไต้หวัน ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2559
ขุมทรัพย์โนว์ฮาว-พลังใต้ปีก สมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า EA รู้มาตลอดตั้งแต่ครั้งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯว่า จำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับอนาคต จากจุดเริ่มต้นในไบโอดีเซล ตามด้วยพลังงานลมและแสงแดด เชื่อว่า energy storage ต้องมาแน่ ๆ
หลังจากพยายามเสาะหาพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีนี้จริง ๆ จึงมีบทสรุปที่บริษัท Amita และเริ่มเข้าไปซื้อหุ้นจากผู้ลงทุนรายเดิม จนปัจจุบันมีสัดส่วนหุ้นมากกว่า 70%
สมโภชน์บอกกับผู้สื่อข่าวจากประเทศไทยที่ร่วมขบวนเยี่ยมชมเทคโนโลยีของ Amita ถึงไต้หวันว่า “ช่วงนั้นผมศึกษาว่าแบตเตอรี่ในโลกมีกี่ชนิด เดินทางไปดูงานตามที่ต่าง ๆ สุดท้ายคิดว่าต้องเป็นลิเทียม ซึ่งผมต้องมา นั่งดูต่อว่าลิเทียมมีกี่เทคโนโลยี มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ตระเวนคุยกับคนที่มีความรู้ ไปดูโรงงานที่ต่าง ๆ จนมาเจอ Amita”
ถามว่าทำไมต้องเป็นบริษัทนี้ “สิ่งที่เราพบคือ Amita เป็นตัวจริงในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เป็นนักคิด นักพัฒนา ตัวผู้ก่อตั้งคือ ดร.จิม เฉิง เชี่ยวชาญด้านนี้จริง ๆ ได้รับรางวัลระดับโลกมาแล้ว มีศักยภาพระดับออกแบบเครื่องจักรการผลิตได้ แต่มีจุดอ่อนด้านการตลาด ทำให้ผลประกอบการออกมาไม่ดีนัก ซึ่ง EA สามารถเติมเต็มในสิ่งเหล่านี้ได้”