Space ในอนาคต..ผู้ใช้งานคือผู้กำหนดเทรนด์
นานมาแล้วที่มนุษย์เป็นผู้เริ่มสร้างความเจริญให้กับโลกมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้าง การเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศ การเข้าถึงในหลายๆ สถานที่ด้วยการคมนาคมที่สะดวกสบาย จาก “พื้นที่” หรือ Space ธรรมดาก็ถูกสร้างให้มีคุณค่า (Value) มากขึ้น เกิดเป็นบ้าน โรงแรม ออฟฟิศ และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อให้มนุษย์ได้ต่อยอดประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ แต่นั่นคือการสร้างโดยเจ้าของสถานที่ เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันที่การออกแบบพื้นที่เริ่มเปลี่ยนไปเพราะต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานหรือลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น มนุษย์สามารถทำงานที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้ หรือแม้แต่การหลีกหนีความวุ่นวายในชีวิตประจำวันเพื่อเข้าไปในโลกสมมติเพื่อพักผ่อนและชาร์จพลังเพื่อกลับมาเดินต่อไปได้อีกครั้ง
ในงาน “Workplace Design Forum 2019” ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร (BACC) เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญในด้านการออกแบบและเทรนด์ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่ในอนาคตสำหรับโรงแรมและพื้นที่สำนักงาน (Workplace) เพื่อเป็นไอเดียแก่นักออกแบบหรือผู้ประกอบการให้ย้อนกลับมามองความต้องการของผู้ใช้งานเป็นสิ่งสำคัญ
นางสาวปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ครีเอทีฟครูส์ จำกัด สถาปนิกผู้สร้างสรรค์ชีวิตของผู้คนผ่านงานสถาปัตยกรรม เล่าว่า “ในอดีตนั้นองค์กรส่วนใหญ่จะต้องการให้ออกแบบพื้นที่ที่มีความโดดเด่นสวยงาม สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร แต่ในปัจจุบันจะเน้นไปในด้านการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น พร้อมคำนึงถึงการใช้งานในอนาคตร่วมด้วย ซึ่งการออกแบบ space สำหรับอนาคตนั้น นอกจากความสวยงามและโดดเด่นแล้ว ต้องมีความยืดหยุ่น รองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี อาทิ การนำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) เข้ามามีส่วนร่วมในองค์กรมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าบางอาคารต้องการให้มีพื้นที่สำหรับบริการด้านโลจิสติกส์อย่างบริการจัดส่งพัสดุเคอรี่อยู่ภายในอาคาร หรือแม้แต่การเพิ่มพื้นที่จอดรถจักยานยนต์ ซึ่งความต้องการที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักออกแบบเองก็ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุด และต้องทราบว่าจะทำอย่างไรให้ความต้องการของลูกค้านั้นประสบความสำเร็จ”
ในส่วนของพื้นที่สำหรับการทำงานหรือ Workplace แห่งอนาคตเองนั้น มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมผู้ใช้งานเช่นกัน นายสมบัติ งามเฉลิมศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง PAPERSPACE และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสำนักงาน เล่าถึงวิวัฒนาการของที่ทำงานของมนุษย์ ย้อนไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผ่านยุคปฏิวัติเกษตรกรรม มาถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผู้คนจำนวนมากต้องมาทำงานพร้อมกันในอาคารหลังเดียวกัน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและตอบสนองความต้องการของโลกในเวลานั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ “สำนักงาน” โดยช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาสำนักงานเองก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคแรกที่คนยังใช้กระดาษกับพิมพ์ดีด มาถึงยุคที่คอมพิวเตอร์ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาบนโลก ทำให้ผนังกั้น หรือ Cubicle Farm ถูกนำมาใช้เพื่อให้คนจดจ่อกับจอคอมพิวเตอร์ของตัวเองเท่านั้น ยุคนี้เองที่เจ้าขององค์กรมองพนักงานเป็นเหมือนฟันเฟืองของเครื่องจักร ที่แม้จะสามารถทำงานได้จำนวนมาก แต่พนักงานส่วนใหญ่แทบไม่มีความสุขในการทำงาน
ปัจจุบันรูปแบบการออกแบบสำนักงานได้เปลี่ยนแปลงไปจากยุคแรกๆ มาก หนึ่งในหลักการที่นักออกแบบพื้นที่สำนักงานในหลายประเทศทั่วโลกได้นำมาใช้ในขณะนี้เรียกว่า Activity-Based Workplace (ABW) หรือพื้นที่สำนักงานที่คำนึงถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่โต๊ะทำงานซึ่งเจ้าของโต๊ะไม่ค่อยได้เข้ามาใช้งาน ให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ สร้างตู้ล็อคเกอร์เก็บของไว้ให้เก็บของส่วนตัว พนักงานในองค์กรสามารถเดินไปนั่งทำงานที่บริเวณใดก็ได้ พร้อมทั้งสร้างพื้นที่ให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน หรือประชุมทางไกลกับผู้ร่วมงานที่นั่งอยู่อีกฟากนึงของโลก ทั้งนี้อนาคตพื้นที่สำนักงานจะเริ่มเล็กลงเรื่อยๆ และกระจายตัวไปตามจุดต่างๆ ของเมืองใหญ่ ซึ่งจะมีความคล้าย Co-working space ในปัจจุบัน
ขณะที่ธุรกิจให้บริการอย่างโรงแรม ก็ถึงเวลาที่ต้องคำนึงถึงการออกแบบพื้นที่ที่สอดรับกับทัศนคติหรือสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับผู้ใช้บริการ โดย นางสาวนทีพร คำเจริญ ผู้เชี่ยวชาญในด้านการรีเสิร์ชและวิจัยเทรนด์ จาก Baramizi Lab เล่าว่า “โรงแรมในอนาคตต้องคำนึกถึง 2 เรื่องสำคัญคือ ลูกค้าเป็นใคร และจะสร้างคุณค่าอะไรให้มากกว่าการเป็นแค่ที่พัก เพราะเทรนด์ของการออกแบบพื้นที่ในโรงแรมขณะนี้คือการพิจารณาที่ความต้องการของกลุ่มลูกค้า จากการวิจัยทัศนคติและความต้องการของผู้บริโภคเกี่ยวกับการพักผ่อนท่องเที่ยวพบว่า มีบางกลุ่มที่ต้องการพาตัวเองออกไปจากโลกที่เป็นอยู่ หลีกหนีความวุ่นวายทั้งหมด ต้องการเอาตัวเองไปอยู่ในโลกสมมติที่ไม่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้ หรือการกลับไปหาธรรมชาติเพื่อผสานพลังระหว่างมนุษย์และธรรมชาติอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้นธุรกิจโรงแรมจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างไร
ตัวอย่างของโรงแรมที่ดีไซน์พื้นที่เพื่อมอบคุณค่าให้กับผู้เข้าพัก อาทิ โรงแรมรายาเฮอริเทจ จ.เชียงใหม่ [1] ในประเทศไทยที่นอกจากจะออกแบบโดยเน้นความเรียบง่าย และอิงกับวิถีชีวิตชุมชนชาวเหนือแล้ว ยังดีไซน์พื้นที่ให้ผู้เข้าพักได้รู้สึกเหมือนอยู่ในโบสถ์ ออกแบบให้แสงที่สาดมาในอาคารรู้สึกสงบนิ่ง จิตใจเบา ได้เหมือนมาชำระจิตใจให้บริสุทธิ์อีกครั้ง หรือในลอนดอนจะมีโรงแรมที่ออกแบบให้เหมือนอยู่ในดินแดนแห่งมนต์ดำ นิยายปรัมปรา มีกิจกรรมให้คนเข้าไปพักได้ทำกิจกรรมที่ดึงพลังจากจักรวาล หยิน หยาง ได้นั่งสมาธิโดยการฟังเสียงฆ้อง เป็นโรงแรมที่มีกิจกรรมนำเอาความจริง ความเชื่อ มอบประสบการ์ณทุกอย่างที่ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการภายในโรงแรม
นอกจากนี้ยังมีโรงแรมที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ขณะนี้อย่าง Bubble Dome Hotel [2] โดมใสขนาดใหญ่ที่ให้เราได้ไปนอนพักผ่อน ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนโรงแรม แต่ได้เห็นและสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่อยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวกลางป่าเขา วิวสวยๆ ให้ได้เสพธรรมชาติใกล้ชิดที่สุด เพื่อผสานพลังระหว่างมนุษย์และธรรมชาติอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงถึงความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนว่ากลุ่มลูกค้าไม่ได้ต้องการเพียงความสวยงาม ความสะดวกสบาย แต่ยังต้องการความมีเอกลักษณ์ และสามารถตอบสนองความต้องการได้ดีที่สุด”
ข้อคิดเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากผู้เชี่ยวชาญที่คุ้นเคยกับการออกแบบพื้นที่ โดยท้ายที่สุดแล้วความต้องการใช้งานจริงเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นองค์กร หรือธุรกิจให้บริการ ดังนั้นการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจควรตระหนักและเริ่มต้นหาเป้าหมายของธุรกิจตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและเหมาะกับการดำเนินธุรกิจในอนาคต