http://www.1morenews.com/4107.html
มีความพยายามอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับความเคลื่อนไหว “ล้มสัมปทานรัฐ” ในกรณีของ “ร้านค้าปลอดภาษีอากร” หรือ “ดิวตี้ฟรี” รวมทั้ง “ปิ๊คอัพ เคาท์เตอร์” ทั้งในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งถือเป็น “ขุมทอง” มูลค่ามหาศาล ที่ผู้ละโมบบางคนอยากเข้าไปมีส่วนแบ่งผลประโยชน์ จึงต้องใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะต้องจัดการกับผู้รับสัมปทานเจ้าเดิม ด้วยสารพัดวิธีการ ทั้งบนดิน ใต้ดิน แม้กระทั่งการชกใต้เข็มขัด
ล่าสุดมามุขใหม่อีก นำ “หน่วยงานตรวจสอบทุจริต” และใช้ สื่อสารมวลชน ที่มักจะแตกตื่นกับวาทกรรม ยึดทรัพย์ เรียกทรัพย์คืน เป็นจำนวนนับหมื่นนับแสนล้านบาท
“ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” คนชื่อคุ้นหูในแวดวงนักการเมืองไทย ใช้สถานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการ และกลไกในการปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นำเอกสารแจกจ่ายสื่อมวลชนกระแสหลัก
ฉากหน้าต้องการจะเอาผิดเจ้าของสัมปทานดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ กล่าวหาว่าทำรัฐสูญเสียผลประโยชน์นับแสนล้านบาท
การตีข่าวนี้ ท่ามกลางกระแส “เลสเตอร์ ซิตี้” สื่อทั่วโลกรู้กันเป็นอย่างดีว่าเจ้าของทีมเป็นคนไทยแท้ๆ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” ทำธุรกิจ “ร้านค้าปลอดอากร” ในนาม “คิง เพาเวอร์” จนประสบผลสำเร็จทางธุรกิจ และเพิ่งจะประกาศชัยชนะ รับถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกอย่างเป็นทางการ ยังไม่ถึง 1 สัปดาห์ ด้วยซ้ำไป จะมองเป็นอื่นไปได้อย่างไร
สิ่งนี้ ... จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด เพราะอะไร ทำไม ต้องมาแถลงช่วงนี้ ทั้งที่ประเด็นที่นำมาแถลงนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องเก่า ซ้ำซาก มีการพิจารณากันหลายรัฐบาล โดยเฉพาะในยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หลัง 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ได้มีกลุ่มบุคคลเข้าไปตรวจสอบ (ข่าววงในมีว่า ...“คุณหนุ่มรถไถ” เป็นคนเดินโพย ภายใต้ร่มใบของ “บิ๊ก บ.” ช่วงนี้ต่อสู้กันหนักมาก มีข้อพิพาททางกฎหมายถึงโรงถึงศาล เพราะเอกชนรายนี้แข็งเอาเรื่อง เพราะไม่ได้ทำผิดจึงไม่ยินยอม
ต่อมารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นผู้ควบคุมกลไกการบริหาร ทีมงานตบทรัพย์ จึงลดบทบาทตัวเองลงมา เพราะรู้ดีว่า ...เอาไม่ได้ง่ายๆ แล้ว เมื่อบ้านเมืองกลับสู่ยุคปกติ
ข้อกล่าวหาที่ว่าซ้ำเดิมๆ ที่ “ชาญชัย อิสรเสนารักษ์” นำมาตั้งประเด็นอีกครั้ง หัวข้อใหญ่คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ร่วมกับบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และบริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ กระทำผิดสัญญา ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2535 ซึ่งเป็นผลให้สัญญาเป็นโมฆะ แต่ได้มีการต่อสัญญากันอีก 2 ครั้ง ซึ่งรายละเอียดในสัญญา “คิง เพาเวอร์” ได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท. ในอัตราร้อยละ 15 ของยอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่าย หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในปีที่ 6-10 ตามลำดับ จนกว่าจะครบระยะสัญญา 10 ปี (2548-2558) รวมเป็นเงินกว่า 15,000 ล้านบาท กระทั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติยกคำร้องแล้วว่า ไม่เข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 !!!
มาดูกันชัดๆ ป.ป.ช.ว่ายังไง !!
เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2554 หลังมีการส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยกคำร้อง!! กรณีกล่าวหานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ,บอร์ด ทอท. และที่ปรึกษาทั้งคณะ รวมถึงคณะทำงานต่ออายุสัญญาของบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และผู้บริหารของกลุ่มบริษัทฯ ร่วมกันทุจริตโครงการร้านค้าปลอดอากร และโครงการบริหารพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
จากการไต่สวน ป.ป.ช.เสียงข้างมากเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิด!!
เนื่องจากเนื่องจากโครงการมีมูลค่าไม่ถึง 1,000 ล้านบาท จึงไม่ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายร่วมทุน และไม่ได้กีดกันผู้ค้ารายอื่น เพราะในการเปิดประมูล มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมมากกว่า 1 บริษัท จึงไม่เข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้ว) พ.ศ.2542 ป.ป.ช.จึงมีมติให้คำร้องนั้นตกไป
นอกจากนี้ ทางคิงส์ พาวเวอร์ เคยได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย กรณี บอร์ด ทอท. ชุด คมช. ยกเลิกสัญญา โดยเรียกค่าเสียหายร่วม ๆ 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งศาลแพ่งยังได้มีคำพิพากษาคุ้มครองชั่วคราว ที่สุด บอร์ด ทอท. ก็ยอมกลับมติไม่ยกเลิกสัญญา เนื่องจากกลัวจะเสียค่าโง่กว่า 6.8 หมื่นล้านบาท