ช่วงเวลาที่ผ่านมามีการคัดค้านกันมากสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ต่างฝ่ายต่างก็ออกมาให้ความเห็นของตัวเอง วันนี้เราจึงได้คัดบทความบางช่วงบางตอนของของนักวิชาการพลังงานอิสระ อย่าง คุณมนูญ ศิริวรรณ มานำเสนออีกมุมมองหนึ่ง ว่าทำไมประเทศเราต้องสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่เพิ่มเติม

โดยคุณมนูญ ได้ใเขียนบทความถึงโครงการสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ไว้ว่า
"เรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ได้รับการต่อต้านจากเครือข่ายองค์กรเอกชน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประชาชนบางกลุ่มมาโดยตลอด โดยส่วนตัวผมเองนั้น ไม่ได้สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นพิเศษ จริงๆ แล้วถ้าเลือกได้ ผมเลือกที่จะสนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเสียด้วยซ้ำไป
แต่ที่ผมสนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นในประเทศไทย โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นที่จังหวัดกระบี่ก็ได้ ก็เพราะผมสนับสนุนให้ประเทศต้องกระจายความเสี่ยงด้านแหล่งเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้าออกไป แทนที่จะพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพียงชนิดเดียว ในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 68% อย่างเช่นในปัจจุบัน
ภาคประชาชนและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางท่านอาจจะบอกว่า เราไม่จำเป็นต้องพึ่งถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกก็ได้ แต่ให้ไปพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นมาแทน โดยระบุว่า ขณะนี้ทั่วโลกหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นทั้งนั้น"
และที่มีการหยิบยกตัวอย่างการใช้เชื้อเพลิงจากต่างประเทศ อย่างเยอรมัน ที่ฝ่ายคัดค้านออกมาบอกว่าประเทศนี้กำลังสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทนอย่างเต็มกำลัง บทความของคุณมนูญได้กล่าวถึงประเทศเยอรมันไว้ว่า
" โดยยกตัวอย่างประเทศเยอรมนีซึ่งมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก
ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพียงแต่ผู้พูดไม่ได้พูดความจริงทั้งหมดว่า นอกจากผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว เยอรมนียังมีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสูงถึง 49,060 เมกะวัตต์ หรือมากกว่า 50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ เพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้าสำรอง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น มีความไม่มั่นคงและไม่เสถียร จึงต้องมีโรงไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานหลักเพื่อป้องกันความเสี่ยง
นอกจากนั้น ยังมีความจริงอีกประการหนึ่ง ซึ่งผู้ที่สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ได้บอกกับประชาชนก็คือ ในเยอรมนีนั้นผู้ที่สนับสนุนและต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ต้องยอมจ่ายค่าไฟแพงขึ้นอีก 10% โดยจะมีช่องให้กรอกในใบเสร็จค่าไฟฟ้าว่า ท่านต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือไม่
เรื่องต่างๆ เหล่านี้ คือข้อมูลที่ประชาชนต้องได้รับรู้อย่างครบถ้วน จึงจะตัดสินใจได้ว่า ประเทศไทยสมควรที่จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ส่วนสถานที่จะเป็นที่ใดก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปทำการศึกษา ทางด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย ตลอดจนความเหมาะสมและผลกระทบต่อชุมชนและวิถีชีวิตของประชาชนอย่างรอบด้าน หรือที่เรียกว่าการศึกษาด้านอีไอเอและอีเอชไอเอต่อไป"
สำหรับท่านใดมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่
- See more at: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635227#sthash.BeWNPXUe.dpuf