ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง : จากแตงโม ภัทรธิดา ถึงสิงห์ สควีซ แอนิมอล การเรียนรู้ทางสังคม (ที่มา:มติชนรายวัน 11 สิงหาคม 2558)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1439279736
ท่ามกลางบรรยากาศการตื่นตัวทางปัญญา พฤติกรรมหลายๆ อย่างของมนุษย์อาจจะถูกแปลความด้วยสายตาของบุคคลทั่วไปว่าเป็นข้อบกพร่องของมนุษย์ก็ตามที แต่มนุษย์ก็ยังยิ่งใหญ่เสมอที่จะกำหนดเส้นทางเดินของตน แม้ด้วยเหตุผลที่ผิดแผกกัน
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ข่าวคราวของนางเอกสาว "แตงโม ภัทรธิดา" ที่มีความขัดแย้งกับนักร้องหนุ่ม "โตโน่ ภาคิน" จนทำให้เธอกินยานอนหลับเกินขนาดเพื่อหวังฆ่าตัวตาย แต่โชคดีมีคนใกล้ชิดมาพบและนำส่งโรงพยาบาล จนสามารถรอดพ้นจากความตายมาได้ เป็นข่าวที่คนทั้งประเทศให้ความสนใจมาก มาปลายเดือน ข่าวการฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึกสูง 9 ชั้นของ "สิงห์ ประชาธิป" ศิลปินวงสควีซ แอนิมอล ดูเสมือนว่าได้รับความสนใจยิ่งกว่า โดยเฉพาะพื้นที่ของการสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์
ความรักและความปรารถนาการครองคู่ครองเรือนเป็นภาวะทางอารมณ์ที่โลกทางธรรมชาติกำหนดในตัวมนุษย์สามัญ ในมิติของความรักที่เป็นภาวะทางอารมณ์นี้ แน่นอนมนุษย์สามารถไปถึงจุดที่สัมผัสถึงความดูดดื่มที่อยู่เหนือการปรุง
แต่งใดๆ ด้วยทางวัตถุและเงื่อนไขทางวัฒนธรรม โดยไม่ควรจะถูกมองว่าเป็นความบกพร่องของมนุษย์ผู้ที่มีความรัก แต่ผู้ที่แสดงออกและตัดสินใจทางความรักอย่างใช้สติปัญญาเพื่อหาความสมดุลให้แก่ชีวิตได้อย่างเหมาะสม จะเป็นคนที่จะมีชีวิตรอดปลอดภัยอย่างไม่เป็นทุกข์ได้ กรณีคุณแตงโม ภัทรธิดา และคุณสิงห์ ศิลปินวงสควีซ แอนิมอล ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมมนุษย์และสังคมไทย และเขาทั้งสองก็ไม่ควรถูกประณามจากผู้คนที่รับรู้เรื่องราวนี้ว่าอ่อนแอ หรือไม่รักตนเอง บูชาความรักจนความรักบดบังสติปัญญา
ท่ามกลางปัญหามากมายที่รายล้อมและพันธนาการการก้าวเดินไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนของประเทศชาติ ปัญหาความเปราะบางทางอารมณ์รักที่แสดงออกมาจากตัวตนของคนหนุ่มสาว เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ชี้วัดได้อย่างชัดเจน คุณภัทรธิดาและคุณประชาธิปจึงเป็นตัวอย่างของผู้ที่ตัดสินใจต่อความรักของตัวเองที่สังคมต้องให้ความสนใจ
ควรใช้เป็นกรณีศึกษาในห้องเรียนของครูบาอาจารย์ที่กำลังสอนนักเรียนนักศึกษาวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายที่เข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัว และกลุ่มหนุ่มสาวชาวมหาวิทยาลัยที่ผ่านโค้งแรกของการเป็นวัยรุ่นมาแล้ว และกำลังเตรียมตัวเป็นพลเมืองชั้นปัญญาของสังคม
การสอน "วิชาชีวิต" ที่ต้องใช้กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมประจำวัน โดยเฉพาะกรณีศึกษาจากคนดังของสังคม ซึ่งสังคมให้ความสนใจมากกว่ากรณีของบุคคลทั่วไป เป็นสิ่งที่ครูผู้สอนจำเป็นต้องกระทำอย่างทันเหตุการณ์ โดยเฉพาะยุคสมัยที่ข่าวสารมาทางสมาร์ทโฟน (จนทั้งผู้สอนและผู้เรียนกลายเป็นคนของสังคมก้มหน้า) ครูต้องนำประเด็นพฤติกรรมมนุษย์ที่สังคมสนใจอย่างกว้างขวางเข้าสู่ห้องเรียน เพื่อชี้ผิดชี้ถูก และให้นักเรียนแสดงทรรศนะต่อสิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งทรรศนะของผู้สอนเองที่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกศิษย์ที่อยู่เบื้องหน้า
ผู้เขียนคิดว่าหากไม่ทำเช่นนั้น ก็ย่อมแสดงว่าเราปล่อยให้การศึกษาในห้องเรียนของเยาวชนเป็นไปอย่างเลื่อนลอย ขาดการบูรณาการ (Integrative) กับชีวิต เป็นการศึกษาที่แยกส่วน มองไม่เห็นองค์รวม (Holistic) ของการศึกษาที่สัมพันธ์กับชีวิตและโลก พระเดชพระคุณหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลารามเรียกการศึกษาแบบนี้ว่าเป็นการศึกษาแบบ "หมาหางด้วน" กล่าวคือ เป็นการศึกษาที่ไม่ทะลุไปถึงขั้น "ปัญญา"
ในมิติทางด้านจิตวิทยาการศึกษาที่ครูทุกคนต้องได้เรียนรู้ น่าสรรเสริญคุรุสภา ผู้ควบคุมดูแลการผลิตครูในประเทศนี้ยิ่งนักที่พยายามปรับปรุงมาตรฐานการเรียนรู้ให้หลักสูตรผลิตครูทุกสาขาวิชาตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมา มีวิชาจิตวิทยาสำหรับครูอยู่ด้วย ซึ่งผู้ที่จะประกอบอาชีพครูทุกคนต้องเรียน ทั้งหลักสูตรปริญญาตรี หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู และหลักสูตรปริญญาโททางการศึกษาทุกหลักสูตร ผู้เขียนเองเป็นผู้สอนวิชานี้ทั้งหลักสูตรครูระดับปริญญาตรี ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู และระดับปริญญาโททางการศึกษา
ทฤษฎีจิตวิทยาการศึกษาทฤษฎีหนึ่งชื่อ "ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม" ของ อัลเบิร์ต แบนดูรา (Albert Bandura) นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงของโลก มีความเชื่อว่า การเรียนรู้หลายอย่างของมนุษย์เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมทางสังคม โดยที่บุคคลใช้การสังเกตการกระทำของผู้อื่น แล้วเลียนแบบการกระทำนั้นๆ เรียกผู้ที่ถูกเลียนแบบการกระทำหรือเจ้าของพฤติกรรมที่ถูกเลียนแบบว่าตัวแบบ (Model) ศาสตร์ทางจิตวิทยาจึงเรียกการเรียนรู้ของทฤษฎีนี้อีกอย่างหนึ่งว่าการเรียนรู้โดยใช้ตัวแบบ (Modeling) เรียกผู้เลียนแบบว่าผู้เรียนรู้ (Learner)
ตัวอย่างพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ตามความแนวคิดของทฤษฎีนี้ เช่น การฝึกทักษะการออกเสียงภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรหรือคำ จะทำไม่ได้เลยหากไม่ใช้วิธีการเรียนรู้โดยการสังเกตจากตัวแบบ การเรียนรู้การขับรถยนต์ จะเรียนได้ดีโดยใช้วิธีนี้ เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ท่านั่งที่ถูกต้อง การวางมือ แขน เท้า ลำดับขั้นตอนของการกระทำที่จะทำให้รถยนต์เคลื่อนออกไปได้ โดยผู้สอนจะอธิบายสิ่งต่างๆ ที่สำคัญให้ฟัง
เช่น ท่านั่งที่ถูกต้องและมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว การเสียบกุญแจ การติดเครื่องยนต์ การเข้าเกียร์ การเหยียบเบรก การเหยียบคันเร่ง พร้อมทั้งสาธิตให้ดู เป็นต้น
(มีต่อ)