หลังจากทำให้ประชาชนคนไทยผิดหวังอย่างแรงในหลายต่อหลายนโยบาย....ทั้งเรื่องของสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่รัฐบาลเอาแต่ “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” ซื้อเวลา ทั้งที่ชูนโยบายปฏิรูปพลังงานเป็นวาระแห่งชาติและลงมาโม่แป้งเรื่องนี้จะร่วมปี แต่ท้ายที่สุดกลับดำเนินนโยบายแบบไม้หลักปักเลนขึ้นมาซะงั้น
วันดีคืนดียังมาปลุกผีร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีการรับมรดก ที่ไม่เพียงแต่จะไล่เบี้ยภาษีเอากับเศรษฐีผู้มีอันจะกินทั้งหลาย แต่ยังจ้องรีดภาษีเอากับประชาชนคนไทยทุกระดับ ทำเอาชาวบ้านร้านรวงรุมร้องแรกแหกกระเชอไปทั่วจนนายกฯต้องรนรานสั่งทบทวน
เพิ่งจะมาคืนความสุขเพื่อคนไทยตามปณิธานที่รัฐบาล คสช.ป่าวประกาศไว้ ก็เมื่อรัฐบาลไฟเขียวให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการเปิดประมูลเพื่อออกใบอนุญาตมือถือระบบ 4 จีที่ประชาชนคนไทยหาวเรอรอมานานนี่แหล่ะ
โดยที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นประธานได้ไฟเขียวให้ กสทช.เร่งดำเนินการเปิดประมูลเพื่อออกใบอนุญาตมือถือระบบ 4 จีดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะ 4-5 เดือนข้างหน้า
ถือเป็นมหกรรมคืนความสุขเพื่อคนไทยที่ทุกฝ่ายเพรียกหามาตลอด!
เพราะอย่างที่ทุกฝ่ายรู้แก่ใจกันดี ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยัง “จมปรัก” หันไปทางไหนก็มีแต่จะเผชิญทางตัน การส่งออกที่จ่อติดลบยังไม่มีวี่แววจะพลิกฟื้นขึ้นมาได้ จะหวังพึ่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ก็ไม่รู้ไปทำกันอีท่าไหนถึงได้ “มั่วตุ้ม” กันไปหมด เพราะเล่นจะ “ปัดฝุ่น” ลุยกำถั่วมั่วตุ้มทั้งโครงการรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าความเร็วปานกลางไปยันรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” โดยไม่ดูสถานะการเงินการคลังของรัฐบาลเลยว่าทำได้แค่ไหน
ขนาดยังไม่ทันจะดีเดย์โครงการเหล่านี้ยังจ้องจะสารพัดภาษีให้ประชาชนคนไทยได้ขนหัวลุก!
จึงเหลืออยู่ก็แต่โครงการประมูลเพื่ออกใบอนุญาต 4จี บนคลื่นความถี่ 1800 และ 900 MHz ที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเดียวที่รัฐบาลไม่ต้องลงทุนลงแรงไม่ต้องบากหน้าไปกู้หนี้ยืมสินที่ไหน เพราะบริษัทสื่อสารน้อย-ใหญ่พร้อมจะเข้ามาลงทุนให้อยู่แล้ว แต่ไม่รู้รัฐบาล คสช.มีเหตุผลกลใดถึงได้สั่งระงับการประมูลเอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้
จะว่าต้องการให้หน่วยงาน กสทช.ไปพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ไม่น่าจะใช่ เพราะขวบปีที่รัฐบาลสั่งระงับการประมูล 4 เอาไว้นั้น ก็ไม่เห็นรัฐบาล และ คสช.จะปฏิรูปกดบัดกฎหมายหรือหลักเกณฑ์การประมูลอะไรเป็นชื้นเป็นอันออกมา นอกจากหันไป “ตีปี๊บ” นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล จะผลักดันให้ทุกอณูของระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์ราคาถูก
แต่กระนั้นผู้คนก็มึนไปแปดตลบ จะให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ต บรอดแบรนด์ราคาถูกและเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิตอลได้อย่างไร? ในเมื่อหนทางที่จะเข้าถึงบริการเหล่านี้มันก็อยู่ที่เครือข่ายมือถือ 4 จี ที่รัฐดองเค็มเอาไว้นั่นแหล่ะ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวนิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เขียนบทความ “เศรษฐกิจดิจิทัลกับการจัดสรรคลื่น 4G ของรัฐบาลประยุทธ์ “โดยระบุว่าการประมูลคลื่น 4G ที่ล่าช้าทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในตลาดโทรคมนาคมไทย ดังที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ผู้ประกอบการที่ได้ประโยชน์จากการประมูลที่ล่าช้าออกไปคือ True Move ขณะที่คู่แข่งอีก 2 ราย (ดีแทคและเอไอเอส) เสียประโยชน์
ที่สำคัญการประมูลคลื่นที่ล่าช้าก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อคนไทย ที่เสียโอกาสในการได้ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชาและทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศต้องล่าช้าออกไป สวนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเอง
เมื่อคณะกรรมการเตรียมการเศรษฐกิจดิจิทัล ไฟเขียวให้ กสทช.เริ่มกระบวนการประมูล 4G ที่ว่านี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ ถนนทุกสายจึงหายใจหายคอโล่งอก เพราะน่าจะถือเป็นหนทางคืนความสุขที่ทุกฝ่ายเพรียกหาอย่างแท้จริง!
อย่างไรก็ตาม ประธานทีดีอาร์ไอก็ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายการประมูลเพื่อออกใบอนุญาต 4 จีบนคลื่น 1800 และ 900 MHz ที่กำลังจะมีขึ้นนั้นทุกฝ่ายยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะมติของคณะกรรมการเตรียมการดิจิตอลยังไม่ชัดเจนในขั้นตอนและกระบวนการประมูลคลื่น 4จี เพราะนัยว่าคณะกรรมการจะให้มีการนำเอาคลื่นความถี่ 2300 และ 2600 เมกกะเฮิร์ซ (MHz) ที่อยู่ในความครอบครองของ อสมท.มาร่วมประมูลในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเพราะคลื่นเหล่านี้ยังไม่มีการเรียกคืน และยังมีกระบวนการในการเรียกคืนอีกนาน
หวังว่ารัฐบาล คสช.คงจะไม่ “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” เอากับนโยบาย 4 จีที่ประชาชนคนไทยเพรียกหานี้จนให้คนไทยผิดหวังซ้ำรอยอีก!!!