แต่ก่อนผลผลิตไม่งอกงามเท่าไหร่ เกษตรกรก็ต้องถอดใจ เอามือก่ายหน้าผาก เพราะปัญหาฟ้าฝน สภาพอากาศ เป็นเรื่องควบคุมไม่ได้ และต้องยอมรับว่ามีผลมาก ต่อการเจริญเติบโตของพืช รวมถึงอารมณ์ของสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวจะหมดไป ไมใช่ว่าจะเอา “พืชผล” หรือ “สัตว์เลี้ยง” ไปไว้นอกโลก หรือที่ๆ มีสภาพอากาศในแบบที่ชอบและควบคุมได้ เลี้ยงหรือปลูกกันในประเทศนี้แหล่ะ พื้นที่จำกัดก็สามารถเพาะปลูกได้ด้วยนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เจ้าของรางวัล สิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร และสิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ด้านวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เวที “นักคิดสิ่งประดิษฐ์ รุ่นใหม่ ประจำปี 2558” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยผลงานที่ได้รับเป็นของอาจารย์และนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร ชื่อผลงาน ว่า “ระบบควบคุมสภาพภูมิอากาศภายในโรงเรือนแบบอัจฉริยะและประหยัดพลังงาน” หรือ ตู้ควบคุมออนไลน์ จุดเด่น คือ ควบคุมอุณหภูมิ, ควบคุมความชื้น, ควบคุมแสงสว่าง ปริมาณก๊าซออกซิเจน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, เป็นเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน, สามารถตรวจสอบ แก้ไข ตั้งค่าผ่านระบบออนไลน์ รองรับทั้งแอนดรอย ไอโอเอส และสมาร์ทโฟน, สามารถนำไปประยุกต์ คอยควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น ปั๊มน้ำ มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องให้อาหารพืชและสัตว์ เครื่องให้ปุ๋ย เครื่องพ่นยา โดยตู้ควบคุมสามารถสั่งการด้วยคำสั่งที่แตกต่างกันได้ถึง 4 โรงเรือน และถ้าเกิดเหตุพลิกผัน อุณหภูมิ, ไฟดับ ระบบก็จะแจ้งเตือนผ่านอีเมล์และมือถือให้สามารถดูและแก้ไขผ่านกล้องวิดีโอวงจรปิดด้วย รับประกันแก้ปัญหาได้ทันท่วงที”
แนวคิดเรื่อง “สมาร์ทฟาร์ม” หรือ “ฟาร์มดิจิตอล” ที่ทำให้สะดวกสบายขึ้น ปัจจุบันที่เป็นที่สนใจแล้ว ในกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเห็ด โดยเฉพาะเห็ดถั่งเช้า ที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละแสน นอกจากนี้ก็มีฟาร์มไก่ อนาคตจะขยายผลไปในพืชพันธุ์อื่นๆ ด้วย น่าสนใจยิ่งนัก ส่วนเกษตรกรมือใหม่ หรือ เกษตรกรรุ่นเก๋า ที่มีหัวใจไฮเทค หาโนฮาวใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ตลอดเวลา ก็สามารถไปติดต่อขอดูงานและเจ้าระบบอัจฉริยะนี้ได้ที่ ศูนย์นวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ (Applied Innovation Centre : AI Centre) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือเข้าไปดูรายละเอียดตามลิงค์นี้เลย