
พลัง
งานสะอาด พลังงานที่ยั่งยืน
เยอรมนี เป็นประเทศที่มีการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างรวดเร็ว ถือได้ว่าเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนของโลกก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเยอรมนีเริ่มหันมาใช้พลังงานทดแทนและให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
เยอรมนีมีนโยบายส่งเสริมการปกป้องสภาพอากาศ และการพัฒนาพลังงานทดแทนแบบบูรณาการ รวมทั้งมีกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานทดแทน ซึ่งระบุเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีนโยบายของรัฐให้ทยอยปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศ เนื่องจากเรื่องความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้เหมือนเหตุการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น และปัญหาการกำจัดกากนิวเคลียร์ จึงเริ่มใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
ประเทศไทยเองมีแผนนโยบายพลังงานที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการการใช้ทดแทนมากขึ้น ลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล ที่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ แต่รัฐควรผลักดันและให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับพลังงานที่กำลังวิตกกังวลในขณะนี้ คือ เรื่องการปิดซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซจากพม่าทั้งสองแหล่ง โดยแหล่งบงกชจะปิดซ่อมตั้งแต่วันที่ 10 - 27 เมษายน 2557 รวม 18 วัน ส่วนพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย (เจดีเอ) จะซ่อมในวันที่ 13 มิถุนายน - 10 กรกฎาคม 2557 รวม 28 วัน กระทรวงพลังงาน จึงเตรียมรับมือการใช้ไฟฟ้าในช่วงนี้ เพราะอาจเกิดปัญหาไฟฟ้าในภาคใต้ไม่เพียงพอ และทำให้ไฟดับได้
การปิดซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซ จะปิดซ่อมเป็นประจำทุก ๆ ปี เราควรมีมาตรการรองรับที่แก้ปัญหาได้ในระยะยาว และควรมีการใช้พลังงานที่หลากหลาย การเลือกใช้พลังงานจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ได้จากชุมชน เป็นพลังงานทดแทนหนึ่งที่ร่วมกับชุมชนที่สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยต้องกระตุ้นและให้ความสำคัญกับพลังงานจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างต่อเนื่องทั้งภาครัฐและประชาชน เหมือนประเทศเยอรมนีที่ทั้งรัฐและประชาชนช่วยกันผลักดันพลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานหลักของประเทศ ช่วยกันลดใช้พลังงาน ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เพื่อพลังงานที่ยั่งยืน
ติดตามข้อมูลข่าวสารของพลังงานสะอาด พลังงานทดแทนในประเทศไทยที่ได้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้ที่ http://www.bppa.or.th และ http://www.
facebook.com/bppa.th