นิตยสารนิวยอร์กไทม์ส ลงบทความเตือนแกนนำผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ว่ากำลังสูญเสียมวลชนจากวิธีการประท้วงที่ทำให้คนส่วนใหญ่เดือดร้อน พร้อมทั้งเตือนพรรคประชาธิปัตย์ว่าหากยังไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีการบอยคอตการเลือกตั้ง ก็จะเสี่ยงต่อการสูญเสียฐานเสียงสำคัญ ได้แก่ ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ
นิวยอร์กไทม์ส นิตยสารข่าวชื่อดังของสหรัฐฯ ตีพิมพ์บทความของศาสตราจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง และคริสต์ เบเกอร์ นักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและเศรษฐกิจไทย ที่ชื่อ Why the Thai Protest Is Losing Steam หรือ "ทำไมการประท้วงในไทยเริ่มอ่อนแรง"
บทความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการประท้วงของ กปปส. ที่เดิมมีพลังสนับสนุนหลักจากชนชั้นกลางในเมือง พนักงานออฟฟิศ และนักศึกษาปัญญาชน เริ่มเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญเมื่อ กปปส.เริ่มนโยบาย shutdown Bangkok ปิดกรุงเทพฯ เนื่องจากการชุมนุมยืดเยื้อในเขตเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ทำให้บรรดาชนชั้นกลางพนักงานออฟฟิศเหล่านี้เดือดร้อน และเริ่มลังเลที่จะสนับสนุนการประท้วง
โดยคนจำนวนมากเห็นว่าวิธีการที่ กปปส.กำลังดำเนินอยู่นั้น เป็นวิธีการที่ไม่ใช่ทางออก และยังนำไปสู่ความเดือดร้อน ความรุนแรง แม้ว่าส่วนใหญ่จะยังเห็นด้วยกับเป้าหมายของ กปปส. นั่นก็คือการขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ตาม
นอกจากนี้ จุดอ่อนอีกประการของ กปปส. ก็คือการไม่นำเสนอทางเลือกที่ชัดเจน ว่าหากไม่เอารัฐบาลพรรคเพื่อไทย และการเลือกตั้ง ประเทศไทยจะเดินหน้าไปสู่สิ่งใด มีเพียงการเสนอรูปแบบที่คลุมเครือของ "สภาประชาชน" และการโจมตีรายวันบนเวทีโดยหมอ สุภาพสตรีไฮโซ และนักการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำพูดเหยียดเพศ และคลั่งชาติ
บทความดังกล่าวยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่าแม้แต่สื่อมวลชนที่เข้าข้าง กปปส.อย่างเนชั่น ซึ่งเคยถึงกับยกให้ "มวลมหาประชาชน" เป็นบุคคลแห่งปี 2556 ก็เริ่มหันมาวิพากษ์วิจารณ์นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ว่าเป็นผู้สร้างความรุนแรง และปั่นป่วนเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเดิมสนับสนุน กปปส.อย่างชัดเชน ก็เริ่มลดบทบาทและความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีเสียงเรียกร้องจากในพรรค ให้ผู้นำพรรคยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลในการเข้าร่วมการปฏิรูป และยกเลิกการบอยคอตการเลือกตั้ง
ศาสตราจารย์ผาสุก และนายเบเกอร์ สรุปว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่รีบเปลี่ยนจุดยืนของตนเอง และเข้าร่วมการเลือกตั้ง พรรคก็เสี่ยงที่จะสูญเสียคะแนนนิยมจากชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของประชาธิปัตย์ และหากการประนีประนอมระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านไม่เกิดขึ้น การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ก็จะไร้ความหมาย เต็มไปด้วยความรุนแรง หรือแม้กระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารได้