"สเปน" แบนปลาทูน่ากระป๋องไทย ชี้ตรวจพบสินค้าส่งออกไปอียูผลิตไม่ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย โดนตีกลับ 17 ครั้ง ซ้ำรอย "นอร์เวย์ โปแลนด์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก บัลแกเรีย" ออกประกาศเตือน เสนอ 3 มาตรการแก้ไข ด้านผู้ประกอบการมั่นใจไม่กระทบตลาดส่งออกโดยรวม
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แอนฟาโค สมาพันธ์อาหารกระป๋องสเปนได้ยื่นจดหมายถึงรัฐบาลสเปนเรียกร้องให้สั่งห้ามการนำเข้าทูน่าจากประเทศไทยชั่วคราว โดยอ้างหลักฐานว่าผู้นำเข้าทูน่ากระป๋องจากไทยหลายรายไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป
(อียู) พร้อมเรียกร้องให้อียูใช้กฎหมายบังคับให้หน่วยงานด้านสุขภาพของไทยถอนชื่อโรงงานผลิตทูน่ากระป๋องที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบมาตรฐานสุขอนามัยดังกล่าวออกไป
ขณะเดียวกันได้หยิบยกข้อมูลจากระบบการแจ้งเตือนสินค้าอาหารของอียู หรือ RASFF มาอ้างว่า ในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อียูปฏิเสธการนำเข้าทูน่าจากไทยเข้าตลาดอียูมาแล้ว 17 ครั้ง สาเหตุมาจากกระบวนการให้ความร้อนเพื่อทำให้อาหารปราศจากเชื้อโรคกระทำโดยไม่เหมาะสม และมีความเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และความมั่นคงของชาติ
จึงเสนอให้หน่วยงานด้านสุขภาพของไทยหยิบยกปัญหานี้ดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา และขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปเดินทางไปประเทศไทยเพื่อตรวจสอบแหล่งผลิตให้มั่นใจว่าโรงงานได้ปฏิบัติตามระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารตามมาตรฐานอียูอย่างจริงจังแล้ว
กรมประมงชง 3 มาตรการแก้ไข
นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เปิดเผยเรื่องเดียวกันนี้ว่า ทูน่าที่ตรวจพบสารตกค้างมีเฉพาะบางลอตเท่านั้น และถูกตีกลับเฉพาะลอตที่มีปัญหา ซึ่งเป็นลอตที่ส่งเข้าไปสเปน
ขณะนี้กรมประมงได้เสนอ 3 มาตรการแก้ไข ได้แก่ 1.แจ้งผู้ประกอบการที่มีปัญหา 2 รายให้ปรับปรุงระบบน้ำเย็นของโรงงาน 2.กรมประมงจะเข้าไปตรวจสอบทูน่า
ทุกลอตที่ส่งออก จากเดิมสุ่มตรวจบางลอต 3.ศึกษาระบบการตรวจสอบของอียู และปรับระบบการตรวจสอบของไทยให้ตรงกัน
"ไม่ใช่อียูปฏิเสธมาตรฐานกรมประมงไทย แต่เขาให้เสนอมาตรการรองรับเรื่องนี้ เราเสนอไปแล้ว กำลังรอคำตอบอยู่"
สำหรับผู้ประกอบการที่มีปัญหา ขณะนี้อยู่ระหว่างชะลอการส่งออกเพื่อปรับปรุงระบบในโรงงาน แต่บริษัทอื่น ๆ ที่ไม่มีปัญหาสามารถส่งออกได้ปกติ ยังไม่มีการแบนทั้งประเทศอย่างที่หลายคนเข้าใจ
ด้านสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทูน่ารายใหญ่ของไทย ไม่มีปัญหาหรือตรวจพบสารตกค้างแต่อย่างใด อาจมีการส่งสัญญาณหรือมีข้อสงสัยระหว่างธุรกิจกับธุรกิจถึงปัญหานี้ แต่ยังไม่มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล เรื่องนี้ตนจะรายงานให้นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.เกษตรฯ ที่กำกับดูแลกรมประมงทราบต่อไป
อีก 5 ประเทศส่งสัญญาณเตือน
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกอียูหลายประเทศ อาทิ นอร์เวย์ โปแลนด์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก บัลแกเรีย สเปนได้ออกประกาศเตือนผู้ส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องจากไทย หลังตรวจสอบพบบางบริษัทที่ผลิตสินค้าทูน่าแบบสุกไม่พอ (Inadequate thermal processing) ซึ่งมักจะพบในกลุ่มทูน่าครีบเหลือง นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบสารฮิตามีนในผลิตภัณฑ์ทูน่าบรรจุกระป๋องจากไทย รวมแล้วมีปัญหา 27 รายการ บางประเทศจึงสั่งระงับการนำเข้า ให้ไทยปรับปรุงคุณภาพการผลิต ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในยุโรป
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้แจ้งเตือนไปยังผู้ผลิตที่อียูระบุว่ามีปัญหา เพื่อให้ปรับปรุงแล้ว แต่กระบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจำนวนมากอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นบ้าง หากปรับปรุงให้รัดกุมก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และไม่น่าถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า เพราะทุกประเทศก็ย่อมดูแลประชาชนของตัวเอง
ช้ไม่กระทบตลดส่งออกโดยรวม
ขณะที่นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง และประธานบริหารบริษัท ซีแวลู จำกัด กล่าวว่า ปัญหานี้เป็นเพียงข้อขัดข้องทางเทคนิค ซึ่งทางสมาคมและกรมประมงประสานงานกันต่อเนื่องอยู่แล้ว เชื่อว่าจะไม่กระทบการส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องของไทยโดยรวม
เช่นเดียวกับที่แหล่งข่าวจากบริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF ระบุว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว เพราะมีห้องปฏิบัติการควบคุมการผลิตไม่ให้มีสารฮีสตามีนตกค้างเกินกว่าที่อียูกำหนด เรื่องนี้จึงเป็นผลบวกต่อบริษัทมากกว่า เนื่องจากบริษัทมีฐานการผลิตหลายแห่งในอียู เช่น ไอร์แลนด์ อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์
9 เดือนไทยส่งออกทูน่าเพิ่ม 29%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลกรมศุลกากร พบว่าการส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องของไทยในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) 2555 มูลค่า 1,937 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.05% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกในกลุ่มสหภาพยุโรปที่สำคัญ อาทิ อังกฤษ มูลค่า 55.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 29.26% อิตาลี 26.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 91.15% ฝรั่งเศศ 20.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 34.08% ขณะที่ยอดส่งออกไปโปแลนด์ 7.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 33.04% และเดนมาร์ก 7.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.19% สเปน 6.05 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 43.40% นอร์เวย์ 5.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.06% เป็นต้น
สำหรับสารฮีสตามีน (histamine) คือสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ที่กำลังเป็นปัญหาทั่วโลก เนื่องจากการบริโภคอาหารทะเล เช่น ปลาต่าง ๆ ได้แก่ ปลาโอแถบ (skipjack), ปลาโอครีบเหลือง (yellowfin), ปลาโอครีบฟ้า (bluefish), ปลาหลังเขียว (sardine), ปลาทู (mackerel), mahi mahi, amberjack, marlin, black marlin และหอยเป๋าฮื้อ (abalone) โดยผู้ที่รับประทานฮีสตามีนในปริมาณมากเกินไป จะก่อให้เกิดอาการแพ้ มีผื่นคัน หน้าแดง แสบร้อนบริเวณปาก ความดันเลือดต่ำ ปวดศีรษะ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ฯลฯ