เรื่องเล่าและตำนาน เจ้าพ่อกระทิงแดง "ความยิ่งใหญ่แต่เรียบง่าย"จากปากลูกสาว เจ้าพ่อกระทิงแดง ยิ่งใหญ่แต่เรียบง่าย
แบรนด์ไทยที่คนทั่วโลกรู้จัก
เธอคนนี้ ถอดแบบพ่อมากที่สุด
ขุนสำราญภักดี
หากจะเปรียบเทียบ 2 สิงห์ผู้ยิ่งใหญ่ ระหว่างเจ้าพ่อน้ำเมา "เจริญ สิริวัฒนภักดี" กับ เจ้าพ่อกระทิงแดง "เฉลียว อยู่วิทยา" แล้วแทบไม่มีความแตกต่างในปรัชญาชีวิตและวิถีแห่งธุรกิจระดับแสนล้านบาท
ผิดกันแต่ว่า เจ้าพ่อน้ำเมา เริ่มเปิดตัวต่อสื่อมวลชน นับตั้งแต่การเทกโอเวอร์ "เบอร์ลี่ยุคเกอร์" เมื่อหลายปีก่อน
ขณะที่ "เฉลียว อยู่วิทยา" ไม่เคยออก
งานใดๆ เขาเก็บตัวเงียบอยู่ในโรงงาน ไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนฉบับใด ตลอด 30 ปีจนวันที่เขาจากไปในวัย 89 ปี
ความเงียบของ "เฉลียว" ตัดกับภาพความโด่งดังของกระทิงแดงหรือ "REDBULL" เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่ดังกระหึ่มไปทั่วโลก
กล่าวกันว่า "REDBULL" อาจเป็นเพียงยี่ห้อไทยเพียงไม่กี่ยี่ห้อที่ฝรั่งรู้จักดีที่สุด
แต่คนที่บอกเล่าเรื่องราวของ เจ้าพ่อกระทิงแดง ได้แจ่มชัดที่สุดคือ "สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา"
"สิทธิรัตน์" เป็นบุตรสาวคนโตของเฉลียวกับภาวนา เธอเป็นลูกคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 11 คน สุทธิรัตน์เข้ามาสานต่อธุรกิจที่เจ้าสัวเฉลียวสร้างเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เธอจบปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ ขณะนี้นั่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ดูแลงานด้านการต่างประเทศเป็นหลัก
หลายคนยืนยันว่า "สุทธิรัตน์" ถอดแบบของ เฉลียว อยู่วิทยา มาเกือบทั้งหมด ทั้งการใช้ชีวิตที่สมถะ และการ
แต่งตัวที่เรียบง่าย ตลอดจนแนวคิดทางธุรกิจ เพราะเธอเองก็ถือว่า "ป๋า" คือตำราเล่มใหญ่ของเธอที่เรียนไม่รู้จักจบ
หลายปีก่อน "สุทธิรัตน์" เคยให้สัมภาษณ์พิเศษในคอลัมน์เปิดอก โดย "รณา" ในนิตยสารดิฉัน ซึ่งสะท้อนแง่มุมธุรกิจของเจ้าสัวหมื่นล้านได้อย่างแจ่มชัดที่สุด
ทายาทเจ้าสัวกระทิงแดง เล่าว่า ป๋า คือผู้บุกเบิกและก่อตั้งบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง จากบริษัทเล็กๆ ที่มีพนักงานไม่ถึง 10 คน จนกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานนับพันคน
จากเครื่องดื่มที่ป๋าต้องเอาไปเทสต์ตลาดโดยการเปิดให้คนขับรถสิบล้อชิมฟรี จนกลายเป็นเครื่องดื่ม Redbull มีจำหน่ายในประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา แอฟริกา และเอเชีย
ตำนานของเฉลียวก็คือ เรื่องราวของจากเด็กที่จบแค่ ป.4 ทำงานทุกอย่างที่ขวางหน้า ตั้งแต่ขายผลไม้ ล่องจากเหนือลงใต้ ในสมัยสงครามโลกก็เอาทุเรียนขึ้นไปขาย แล้วขากลับก็เอาส้มโอลงมา โดยใช้เรือแจวเป็นพาหนะในการขนสินค้าขึ้นล่อง
จนเมื่อเกิดสงครามโลกเข้ามาถึงเมืองไทย ได้เกิดความขาดแคลนยา "เฉลียว อยู่วิทยา" จึงเกิดไอเดียสั่งยาจากต่างประเทศเข้ามาขาย
นั่นเป็นครั้งแรกที่เฉลียวกระโดดเข้าไปในธุรกิจยา
เมื่อช่องทางนี้ไปได้สวย เขาจึงตั้งบริษัทผลิตยาขึ้นมา มีโรงงานอยู่แถวคลองหลอด ทำยาแก้ไข้ ที.ซี.ไมซิน, ยาน้ำเบบี้ดอล, ยาเม็ดลาย ฯลฯ
จากธุรกิจผลิตยาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว "เฉลียว" ก็หันมาเริ่มต้นกิจการใหม่อีก นั่นคือการผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดง
ในตลาดขณะนั้นมีเครื่องดื่มบำรุงกำลังอยู่แล้วหลายี่ห้อ แต่เป็นยี่ห้อต่างประเทศเสียส่วนใหญ่ โดยนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น
"เฉลียว" ได้สร้างตำนานกระทิงแดงที่เป็นผลผลิตของประเทศไทย โดยตั้งโรงงานแถวถนนเอกชัย เริ่มจากโรงงานเล็กๆ บนเนื้อที่ไม่กี่ไร่ และใช้พนักงานไม่ถึง 10 คน
ยี่ห้อ "กระทิงแดง" เฉลียวก็เป็นคนออกแบบโลโก้เอง เบื้องหลังการใช้ยี่ห้อกระทิงแดง ก็เพราะเห็นว่ามันแปลก เมื่อยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจากกระทรวงพาณิชย์ก็ผ่านฉลุย เพราะไม่ซ้ำแบบกับใคร
ประกอบกับความหมายของกระทิงแดงก็ให้ความหมายที่ดีในแง่ของพลัง
แต่แล้วยี่ห้อกระทิงแดงก็เกิดเรื่องขึ้นจนได้ ในยุคการเมือง ช่วงขวาพิฆาตซ้าย (ปี 2516-2519) ยี่ห้อกระทิงแดงสร้างความสับสนให้กับฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง
ฝ่ายขวาจัดโดยการนำของ พล.ต.สุตสาย หัสดิน ณ อยุธยา ในกลุ่มการเมืองที่ใช้ชื่อว่า "กระทิงแดง" ข้องใจที่ว่าเจ้าสัวเฉลียว เอาชื่อ "กระทิงแดง" ไปพะเป็นยี่ห้อเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
ร้อนถึง เจ้าสัวเฉลียว ต้องหยิบเอกสารจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จากกระทรวงพาณิชย์มายืนยันว่า เครื่องหมายกระทิงแดง จดทะเบียนก่อนปี 2516 เสียอีก มิได้เพิ่งจดทะเบียนใบช่วงรุ่งเรืองของเจ้าพ่อสุตสายแต่อย่างใด แล้วเรื่องก็จบลงไปได้
สุทธิรัตน์ เล่าถึงการบุกตลาดต่างประเทศว่า ในตอนแรกที่ Redbull เข้าไปในตลาดยุโรปซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่หินที่สุด เพราะคนยุโรปไม่คุ้นเคยกับคำว่า energy drink ฉะนั้น กระทิงแดงคือสินค้าประเภทนี้ตัวแรกที่คนยุโรปได้รู้จัก ครั้งนั้นไม่มีใครรู้จัก Product of Thailand
"กระทิงแดงที่ขายในยุโรปและอเมริกาจะมีรูปร่างและรูปแบบต่างจากที่ขายในเมืองไทย เพราะในเมืองไทยจะคุ้นเคยกับเครื่องดื่มที่บรรจุในขวดทรงเหลี่ยมสีน้ำตาล แต่ในตลาดยุโรปและอเมริกา บรรจุภัณฑ์จะเป็นกระป๋องสีฟ้า ส่วนแถบเอเชียจะเป็นกระป๋องสีทองกับสีแดง แต่ใช้ยี่ห้อเดียวกันคือ Redbull ทั้งหมด" ทายาทเจ้าพ่อกระทิงแดงกล่าว
"เฉลียว" ในวัยชรา ยังทำงานหนักเหมือนเช่นที่เคยทำเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และมีความสุขที่จะอยู่กับบ้าน และไม่ชอบออกงานสังคม ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ในงานสังคมขนาดใหญ่จะไม่พบแม้แต่เงาของ "เฉลียว"
ลูกสาวเล่าว่า ทั้งเนื้อทั้งตัวของป๋า ไม่มีเครื่องประดับอื่น นอกจากนาฬิกาเรือนเดียวยี่ห้อราโด้ เสื้อผ้าก็ไม่ยอมซื้อ ไม่พกเงิน โดยชีวิตประจำวันจะเริ่มจากการขี่จักรยานตอนเช้า ใส่เสื้อตัวเดียว นุ่งกางเกงแพร ใส่หมวกงอบ แล้วขี่จักรยานวนไปรอบโรงงาน เจออะไรไม่เรียบร้อยก็จะแวะเข้าไปตรวจดู
จนมีเรื่องตลกเล่าว่าครั้งหนึ่งมียามหน้าใหม่ไม่รู้จัก เฉลียว อยู่วิทยา เมื่อเห็นลุงแก่ๆ ขี่จักรยานเข้ามาในโรงงานซึ่งเป็นเขตที่คนนอกห้ามเข้า เขาจึงตะโกนห้ามว่า "ลุง...ลุง...ห้ามเข้า"
เผอิญยามอีก 2 คนเป็นยามเก่า ก็มาสะกิดบอกยามหนุ่มว่านี่คือผู้จัดการโรงงาน เล่นเอายามหนุ่มถึงกับหน้าถอดสี
ปรัชญาชีวิตที่ได้จากการทำงานหนัก สะท้อนได้อย่างดี เมื่อครั้งมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้เสนอที่จะมอบปริญญากิตติมศักดิ์แก่เจ้าพ่อกระทิงแดง
แต่เจ้าสัวเฉลียวปฏิเสธ โดยกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม เพราะไม่ได้เรียนมา จะเป็นการเอาเปรียบกับคนที่เรียนมาได้อย่างใด
นี่คือ เรื่องราวการสร้างแบรนด์ "กระทิงแดง" อันลือลั่น จากรุ่นพ่อที่เป็นผู้สร้าง จนถึงทายาทที่เป็นผู้สาน ทำให้ "อยู่วิทยา" รุ่นสองต้องทำงานหนักต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์