มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เปิดตัวโครงการใหม่ “วิถีจักรยาน...วิถีมหิดล” ครั้งแรกในไทยกับการพัฒนาระบบจักรยานแบบครบวงจร ต่อยอดระบบโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับระบบจักรยานสาธารณะ พร้อมเปิดศูนย์จักรยานแนวคิดใหม่ มุ่งสร้างวัฒนธรรมจักรยาน ตั้งเป้าสู่เมืองต้นแบบมหาวิทยาลัยเมืองจักรยานเทียบชั้นมหาวิทยาลัยระดับโลก
30 มิถุนายน 2554 - หลังจากที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้ดำเนินการปรับปรุงงานทางกายภาพ ภายใต้แนวคิด มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) มาตั้งแต่ปี 2551 โดยมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ในด้านต่างๆ ที่เอื้อต่อการ สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อาทิ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การลดพื้นที่การจราจรสำหรับ รถยนต์ลงเหลือ 50% โดยปรับเปลี่ยนให้เป็นทางเท้าและทางจักรยาน ฯลฯ ในปี 2554 มหาวิทยาลัยจึงได้เปิดตัว โครงการใหม่ “วิถีจักรยาน...วิถีมหิดล” เพื่อสานต่อแนวคิดดังกล่าวและส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมจักรยานในมหาวิทยาลัยเพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาวะในอนาคต
รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี รองอธิการบดีฝ่ายระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การริเริ่มงาน ปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งการสร้างเส้นทางจักรยาน ทางเดินเท้า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ทำมาได้ดีในระดับหนึ่ง แต่จากบทเรียนที่ผ่านมาเราพบว่า เฉพาะการทำเส้นทางและระบบจักรยานสาธารณะไม่ได้ตอบโจทย์ ทั้งหมดในการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมจักรยานและวิถีจักรยานที่ยั่งยืน ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามมุ่งเน้นจากนี้ ใน โครงการวิถีจักรยาน...วิถีมหิดล คือการทำงานทางกายภาพเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการทำงานทางความคิดกับนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นการพัฒนาระบบจักรยานอย่างครบวจร โดยมีเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็น ต้นแบบมหาวิทยาลัยเมืองจักรยาน (Bicycle - Friendly Campus) ในอนาคตเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยระดับโลก และ เมืองใหญ่หลายแห่ง
รศ.ดร.อนุชาติ กล่าวต่อว่า ภายใต้โครงการนี้มีการดำเนินการ 5 ด้าน ได้แก่
1)การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับผู้ใช้จักรยานเพิ่มเติม
2)การให้ความรู้เรื่องการใช้จักรยานและการขับขี่อย่างปลอดภัย
3)การกระตุ้นให้นักศึกษาเห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมจักรยาน
4)การทำงานร่วมกับภาคีและเครือข่าย และ
5)การวางแผนอย่างเป็นระบบในการขับเคลื่อน
การทำงานในครั้งนี้ถือเป็นการนำบทเรียนที่ผ่านมามาปรับปรุงและพัฒนา เช่น การทำเส้นทางจักรยานให้มีพื้นที่ เชื่อมโยงกันมากขึ้น การยกระดับระบบจักรยานสาธารณะ การเพิ่มพื้นที่จอดให้กับจักรยาน การเพิ่มมาตรการ ความปลอดภัยให้กับจักรยาน แผนที่จักรยาน การลงทะเบียนจักรยาน การอบรมให้ความรู้เรื่องการใช้จักรยาน อย่างปลอดภัย การมีจักรยานประจำตำแหน่งผู้บริหารเพื่อเป็นแบบอย่างของการเดินทางในมหาวิทยาลัย งานรณรงค์เพื่อสร้างแนวร่วมในมหาวิทยาลัยภายใต้ชื่อ Jakka is Cool รวมถึงการเปิดศูนย์จักรยาน “จักก้าเซ็นเตอร์” เพื่อเป็นศูนย์ซ่อมจักรยาน ขายอะไหล่ โดยไม่มุ่งหวังกำไร โดยต้องการให้เป็นพื้นที่กลางในการสร้างชุมชน คนรักจักรยาน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
โครงการนี้จึงไม่ได้เป็นแค่การส่งเสริมเรื่องการใช้จักรยานอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของ นักศึกษาและประชาคมมหิดลในการตัดสินใจต่อความต้องการและปัญหาอุปสรรคร่วมกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะการที่จะทำให้คนเปลี่ยนรูปแบบในการเดินทางอยู่ที่แรงจูงใจทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การเข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้นักศึกษามีความเข้าใจต่อประโยชน์ของจักรยานมากขึ้น
“เรายังหวังว่าจักรยาน จะเป็นสื่อที่ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เรียนรู้จักคน เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ เรียนรู้ที่จะ สร้างเสริมสุขภาพ เรียนรู้ที่จะลดการใช้พลังงาน สิ่งนี้นับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เป็นหัวใจหลักของโครงการ เราหวังว่า นักศึกษาจะได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เพื่อหล่อหลอมชีวิตนักศึกษาที่มีคุณค่าต่อไป” รศ.ดร.อนุชาติกล่าวในที่สุด
เกี่ยวกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ศาลายา ถือเป็นที่ตั้งหลัก สำหรับเตรียมความพร้อมของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปี ของมหาวิทยาลัยมหิดล ปีละ 4,800 คนก่อนจะแยกไปยังวิทยาเขตต่างๆ เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2 ยกเว้นนักศึกษาคณะกายภาพบำบัด วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ศิลปศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ วิทยาลัยศาสนศึกษา ที่จะได้เรียนรู้ที่ศาลายาจนจบการศึกษา