พระวิริยะแก้ปัญหารถติด
พระวิริยะบารมีปกเกล้าฯ แก้ปัญหากรุงเทพฯ รถติด
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปี ๒๕๓๑-๒๕๓๘ ยิ่งทำให้ปัญหาจราจรยิ่งทวีความรุนแรง อาจเป็นเพราะประชาชนมีสถานะทางการเงินและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงมีการใช้เงินซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากขึ้นรวมไปถึงรถยนต์ประกอบกับกรุงเทพฯ ไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกและมีประสิทธิภาพเพียงพอเป็นทางเลือกให้ใช้ ประชาชนที่มีรายได้ในระดับดีจึงนิยมใช้รถยนต์กันต่อไป เห็นได้จากจำนวนรถยนต์จดทะเบียนในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ๑,๖๓๕,๑๖๙ คัน ในปี ๒๕๓๑ เป็น ๓,๕๔๐,๐๘๒ ในปี ๒๕๓๘ ปัญหาจราจรได้บั่นทอนคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพฯ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตมลพิษ จากท่อไอเสียส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล สำนักงานคณะกรรมการการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.)ประเมินว่า ในปี ๒๕๓๘ มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากปัญหาจราจรสูงถึงประมาณ ๙๑,๐๐๐ ล้านบาท แบ่งออกเป็นความสูญเปล่าทางเชื้อเพลิง ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท การซ่อมบำรุงและรักษาเครื่องยนต์ ๒๒,๐๐๐ ล้านบาท และความสูญเปล่าของเวลา ๕๖,๐๐๐ ล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใส่พระราชหฤทัยในการแก้ไขปัญหาจราจรเพื่อผ่อนคลาย ความทุกข์ร้อนของชาวกรุงเทพฯ โดยทรงรับข้อมูลข่าวสารด้านการจราจรของกรุงเทพฯ จากหลายแห่ง เช่น หนังสือพิมพ์ ข่าวสารจากวิทยุ โทรทัศน์ หรือรูปถ่าย ทางอากาศ อีกทั้งฟังการรายงานสถานการณ์จากหน่วยงานต่างๆ และบ่อยครั้งที่พระองค์ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ทอดพระเนตรการจราจรในยามดึก รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินโดยทางเฮลิคอปเตอร์ทอดพระเนตรเส้นทางการจราจรและการจัดระเบียบเส้นทางจากมุมสูงซึ่งจะช่วยให้พระองค์ มองปัญหาในภาพรวมได้อย่างชัดเจนจากนั้นก็จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อ หาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยทรงทดลองความเป็นไปได้ของแนวทางต่าง ๆ ในทุกแง่ทุกมุมที่อาจเกี่ยวข้องพร้อมทั้งหาข้อมูลเพิ่มเติมมาประกอบ พระบรมราชวินิจฉัยหรือแม้กระทั่งการเขียนแบบร่างด้วยพระองค์เองแล้วจึงพระราชทานแนวพระราชดำริแก่กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปดำเนินการในรูปโครงการต่าง ๆ ต่อไป
กรุงเทพมหานครได้มีโอกาสน้อมรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาดำเนินการหลายโครงการ
ทั้งโครงการที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นและโครงการที่เป็นการแก้ปัญหาเป็นลำดับเป็นขั้นเป็นตอน
โครงการที่เป็นการพัฒนาเส้นทางจราจรให้เป็นโครงข่ายต่อเนื่องและสอดคล้องกัน ทั้งถนนสายหลักสายรองในเมือง ทางด่วน ไปจนถึงถนนอ้อมเมืองหรือถนนวงแหวนรอบนอก ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาจราจรกรุงเทพฯ ทั้งระบบและที่สำคัญโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกโครงการเป็นการแก้ปัญหาตามสภาพความเป็นจริง
"โครงการพระราชดำรินี้คืออะไร ก็คือการที่จะให้รถแล่น อันนี้พูดอย่างนี้ อาจพูดเหมือนกำปั้นทุบดิน ว่าการจราจรมันก็ต้องแล่น ถ้าจราจรมันไม่แล่น มันก็ "อจร" ไม่จรแต่ว่าให้รถแล่นนั้น มีความเข้าใจผิดว่ารถต้องแล่นเร็ว ถึงจะจราจรคล่องแคล่ว บางทีเขาก็รายงานถนนดีมาก รถแล่นวิ่ง ถามเขาว่าวิ่งเท่าไร เขาบอกว่าวิ่ง ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ๙๐ หรือ ๑๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั่นไม่ใช่การจราจรที่ถูกต้อง ในเมืองควรจะวิ่งอย่างมากที่สุด ๖๐ แต่ว่าที่เป็นไป ถ้าไม่ใช่ ๘๐ ก็ศูนย์ ความจริงที่จะแล่นแม้จะแล่นเพียง ๑๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็พอ ทำให้เดินทางมาได้ ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง เขามาได้ ๑ ชั่วโมงก็พอทนคือถ้าวิ่ง ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง อันนี้เป็นหลักที่ไม่มีใครคิด เป็นหลักที่ไม่มีใครย้ำฉะนั้นโครงการพระราชดำรินั้น ก็คือ ให้รถพอแล่นได้ไม่คั่งไม่ศูนย์กิโลเมตรต่อชั่วโมง และไม่ ๑๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้พอไป ให้พอไป"
๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๘
"สร้างทางในที่ยังไม่มีทาง อันนี้เกิดขึ้นที่ใกล้สถานีบางกอกน้อยระหว่าง สถานีบางกอกน้อย คือ ปลายถนนอิสรภาพเชื่อมกับถนนจรัญสนิทวงศ์ ตรงนั้นเป็นที่ของการรถไฟเป็นที่ลุ่มมีทางเดินเข้าไปไม่ทะลุแล้วก็ขลุกขลัก"