*ทำไมต้องมีการบริจาคโลหิต*
โลหิตเป็นสิ่งสำคัญในดำรงรักษาชีวิตมนุษย์ ให้อยู่รอด
นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามค้นคว้ามาเป็นเวลานาน
แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จในการหาสารประกอบอื่นๆที่มาทดแทนโลหิตได้
ฉะนั้นเมื่อยามที่ร่างกายเสียโลหิตจากอุบัติเหตุ ผ่าตัด หรือ
โรคที่จำเป็นต้องรักษาด้วยโลหิต
จึงจำเป็นต้องรับบริจาคโลหิตจากบุคคลหนึ่งเพื่อนำไปให้อีกบุคคลหนึ่ง
เพื่อช่วยเหลือชีวิตให้ทันท่วงทีนั่นเอง
ความจำเป็นต้องใช้โลหิต
โลหิต 77% ที่ได้รับบริจาคถูกนำไปใช้เพื่อทดแทนโลหิตที่สูญเสียไป
ในภาวะต่างๆ อาทิ อุบัติเหตุ การผ่าตัด โรคกระเพาะอาหาร
การคลอดบุตร ฯลฯ
อีก 23% เป็นการนำโลหิตไปใช้เฉพาะโรค อาทิ โรคโลหิตจาง (ธาลัสซีเมีย)
เกล็ดโลหิตต่ำ ฮีโมฟีเลีย เป็นต้น
การบริจาคโลหิตไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคแต่อย่างใด
การบริจาคโลหิตคือการสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้
เพื่อให้กับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาค
เพราะร่างกายแต่ละคนจะมีปริมาณ 17-18 แก้วน้ำ ร่างกายใช้เพียง 15-16
แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้
โลหิตสามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือนเพราะเมื่อบริจาคโลหิตออกไป
ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทน
ให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม ถ้าไม่ได้บริจาค
ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัว เพราะหมดอายุออกมาทางปัสสาวะ อุจจาระ
กระบวนการบริจาคโลหิตตั้งแต่เริ่มลงทะเบียน
จนกระทั่งบริจาคโลหิตเสร็จสิ้น ใช้เวลาประมาณ 15 นาที
ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเลือกเจาะโลหิตที่เส้นโลหิตดำ บริเวณแขน
แล้วเก็บโลหิตบรรจุในถุงพลาสติก (BLOOD BAG) ตั้งแต่ 350-450 มิลลิลิตร
(ซี.ซี.) ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค
คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต
1. อายุระหว่าง 17 ปี ถึง 60 ปีบริบูรณ์
2. น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป สุขภาพทั่วไปสมบูรณ์ดี
3. ไม่มีประวัติโรคตับอักเสบ หรือดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
4. ไม่เป็นไข้มาลาเรียมาในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา และไม่เป็นกามโรค
โรคติดเชื้อต่างๆ ไอเรื้อรัง ไอมีโลหิต โลหิตออกง่ายผิดปกติ
โรคโลหิตชนิดต่างๆ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคลมชัก
โรคผิวหนังเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์
5. ไม่อยู่ในภาวะน้ำหนักลดมากในระยะสั้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
6. ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ หรือสำส่อนทางเพศ
ไม่มีประวัติติดยาเสพติด
7. งดการบริจาคโลหิตภายหลังผ่าตัด คลอดบุตร หรือ แท้งบุตร 6 เดือน
(ถ้ามีการรับโลหิตต้องงดบริจาคโลหิต 1 ปี)
8. สตรีไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน หรือตั้งครรภ์
ดูแลตัวเองก่อนมาบริจาคโลหิต
*ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง
*ควรมีสุขภาพสมบูรณ์ดีทุกประการ ไม่เป็นไข้หวัด
หรืออยู่ระหว่างรับประทานยาใดๆ
*ควรรับประทานอาหารมาก่อน และเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ไม่มีไขมัน
*งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนมาบริจาคอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
*งดสูบบุหรี่ก่อน และ หลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี
ข้อปฏิบัติหลังบริจาคโลหิต
*นอนพักบนเตียงสักครู่ ห้ามลุกจากเตียงทันที จะเวียนศีรษะเป็นลมได้
*ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีบริการให้ และ ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1 วัน
*ไม่ควรรีบร้อนกลับ นั่งพักจนแน่ใจว่าเป็นปกติ
หากเวียนศีรษะให้รีบบอกเจ้าหน้าที่ทันที
*รับประทานยาธาตุเหล็กที่ได้รับวันละ 1 เม็ด จนหมด
เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
*หลีกเลี่ยงการใช้กำลังแขนข้างที่เจาะ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง
เพื่อป้องกันการบวมช้ำ
*งดกิจกรรมที่ใช้กำลังและเสียเหงื่อที่ทำให้อ่อนเพลียได้
ท่านสามารถบริจาคโลหิตได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
วันจันทร์-ศุกร์ (ไม่หยุดพักกลางวัน) เวลา 08.00 – 16.30น.
วันพฤหัสบดี (ไม่หยุดพักกลางวัน)เวลา 07.30 – 19.30 น.
วันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00 – 12.00 น.
วันอาทิตย์ เวลา 12.00 – 16.00 น.
สาขาบริการโลหิต โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ
สอบถามได้ที่โทรศัพท์ 02-2526116, 02-2521637, 02-2524106-9 ต่อ 1770, 1771,
1760, 1761
www.redcross.or.th
ผมเชื่อได้ว่า “เพื่อนๆทุกท่านที่อ่านกระทู้ของผม”
จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน..... โดยการบริจาคโลหิตครับ
(ขอพระเจ้าอวยพระพรเพื่อนทุกท่านครับ)