ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้กล่าวว่า สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ เพื่อเป็นแนวทางการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจไทย ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การมีบุคคลที่น่าเชื่อถือ มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับ ประเด็นด้านความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจนั้น จำเป็นต้อง เริ่มต้นจาก การสร้างเชื่อมั่นของบุคคล หรือทีม
งานก่อน ที่ต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เป็นที่ยอมรับ
2. การมีกลยุทธ์การสื่อสารเชิงรุกที่ทันสมัย และสม่ำเสมอ มีเครื่องมือ ช่องทาง วิธีการที่เข้าถึงสำหรับสร้างความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปได้ทุกกลุ่มแบบเชิงรุก รวมถึงผู้ประกอบการ ด้วยเนื้อหาที่ประชาชนรับรู้ได้ง่าย ตรงใจและสัมผัสได้
3. การสื่อสารนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน การแนวทางสำหรับการเร่งสร้างเสถียรภาพทางการเงิน ในภาพรวม ไปพร้อมกับการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยราชการอย่างเป็นระบบ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทั้งการสร้างความสัมพันธ์ โอกาส ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม
4. การนำเสนอ วิธีการการเยียวยาทางด้านอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการลงทุนและอื่นๆ ที่สอดคล้องกับมาตรการทางด้านสาธารณสุข ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
5. การส่งเสริมทางด้านการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ การประกอบธุรกิจ การลงทุน การฟื้นฟูกิจการทั้งในขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ที่รวดเร็ว ทันสถานการณ์
6. การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจการเกษตร การสร้างโอกาสทางด้านเกษตรกรรม เป็นนวัตกรรมทางการเกษตร และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าถึงง่าย
7. การเผยแพร่แนวทางการพัฒนา ฟื้นฟู เยียวยา เสริมศักยภาพธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และนานาชาติ
8. การสำรวจ หาแนวทาง ชี้แจง การเยียวยาภาคประชาชน การแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ ผลกระทบ การว่างงาน แรงงานทั่วไป แรงงานคุณภาพ การสร้างรายได้ การเพิ่มทักษะและการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
9. การนำเสนอรูปแบบการพัฒนาโครงสร้างชุมชนให้แข็งแรง ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนและการส่งเสริมการตลาด
10. การเผยแพร่ข้อมูลที่สนับสนุนต่อการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงิน ด้านคุณภาพชีวิตของประชากร ความพร้อมแหล่งการค้าและการลงทุน ความสามารถในการแข่งขันประเทศอื่นที่มีแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวมารองรับ
11. การกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ทันท่วงที ความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจเช่น ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค ควบคุมราคาสินค้า และการช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายในการบริโภค คุณภาพชีวิตของประชาชนภายใต้สถานการณ์ COVID-19
12. การแสดงให้เห็นถึงบริหารงบประมาณแผ่นดินที่สุจริตโปร่งใส รอบคอบ เช่น แผนการหารายได้ การใช้จ่ายที่จำเป็น มีเหตุผล แนวทางการประหยัด ลดและการชะลอการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่จำเป็น เป็นต้น
ประเทศไทยกับหลากปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจ ต้องไม่ลืมว่านอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้ว ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องหลายประการที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 และต้องนำมาพิจารณา อาทิ การให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุดและเร็วที่สุด ซึ่งเหตุผลนี้ จะนำมาสู่การเปิดประเทศได้เร็วขึ้น ควบคู่ไปกับการควบคุมผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาของฝุ่น (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐาน ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ในขณะที่ ในการเรียกความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจนั้น การกระตุ้นการบริโภค จำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงิน เพื่อเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว และควรเร่งให้มีการติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง มีการส่งเสริมการลงทุนด้านปัจจัยพื้นฐานทางสาธารณูปโภคที่ส่งผลทางเศรษฐกิจ การลงทุนทางด้านการวิจัย การวางระบบสาธารณสุข การชดเชยรายได้ มาตรการด้านภาษี นโยบายสินเชื่อ การให้ความช่วยเหลือการฟื้นฟูต่อผู้ได้รับผลกระทบในหลายมิติ ย่อมเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้ง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ สามารถเข้าสู่สภาวะปกติได้ในเร็ววัน