แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มแผ่วลง เล็กน้อยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก
แต่ด้วยศักยภาพการส่งออกของไทย จึงมีโอกาสที่การส่งออกจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าที่คาดไว้
เห็นได้จากคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 88.5 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 86.4 และดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนี้ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.5 จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 92.4
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินแนวโน้ม 10 อุตสาหกรรมส่งออกครึ่งหลังของปี 2564 มีโอกาสฟื้นตัวได้ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพเศรษฐกิจ แบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมออกเป็น 4 หมวด
1.อุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวตามตลาดโลก ได้แก่
อุตสาหกรรมอาหาร มองว่าจะฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นตามการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากร โดยได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าเกษตรที่มีทิศทางที่ดีขึ้นและการมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ซึ่งยังต้องเผชิญกับการขาดแคลนวัตถุดิบของโรงงานแปรรูปอาหาร
อุตสาหกรรมยานยนต์ เห็นได้จากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นปรับแผนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มสูงขึ้น
2.อุตสาหกรรมที่โดดเด่นต่อเนื่องจากเทรนด์สุขภาพ ได้แก่
อุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ (รวมถุงมือยาง)
อุตสาหกรรมยาและสมุนไพร
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ได้รับแรงหนุนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหามลพิษต่างๆ ทำให้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น บำรุงร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย แนวโน้มของการเจ็บป่วยประเภทโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ประกอบกับนโยบายที่สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) จะช่วยเสริมทิศทางการเติบโตของกลุ่มเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศสูง โรงพยาบาลต่างๆ นิยมใช้สินค้านำเข้ามากกว่าที่ผลิตในไทย อีกทั้งห้องแล็บในการทดสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ยังมีไม่เพียงพอ
3.อุตสาหกรรมที่เติบโตในช่วงทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ได้แก่
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น เพราะการทำงานจากที่บ้านทำให้ผู้คนต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้านมากขึ้น
โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะทำงาน เฟอร์นิเจอร์ไม้ เฟอร์นิเจอร์โลหะ เป็นต้น ที่มีอัตราการเติบโตได้ดีตามการใช้ชีวิตในช่วงโควิด-19 จากอานิสงส์ที่ต้องอยู่กับบ้าน
ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Home Device) ที่มีระบบการทำงานที่ฉลาดมากขึ้น กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยง ปัญหาการขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ ราคาเหล็กและ ทองแดงปรับเพิ่มขึ้น ขาดแคลนแรงงาน และค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น
4. อุตสาหกรรมที่มีทิศทางเติบโตตามสถานการณ์ โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายคือ กลุ่มแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ได้แก่
อุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์
อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ครัวเรือนและธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหาร จะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยในสินค้ากลุ่มสร้างสรรค์ และการตกแต่งอาคารสถานที่ต่างๆ อย่างมาก
เนื่องจากความต้องการที่ถูกอั้นไว้ช่วงโควิด-19 ที่ธุรกิจต่างๆ หยุดการใช้จ่าย หยุดการพัฒนา ซึ่งในช่วงเวลาที่หยุดไปนั้นสิ่งของต่างๆ ได้ถูกใช้จนเต็มประสิทธิภาพแล้ว เมื่อใดก็ตามที่มีการฟื้นตัวจึงนับเป็นโอกาสของสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ที่จะฟื้นตัวได้สูง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่ถูกกว่า การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น
https://www.khaosod.co.th/economics/news_6501572