นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยความคืบหน้า โครงการสนับสนุนการใช้วัสดุกันกระแทกจากธรรมชาติ ทดแทนเม็ดโฟม-โฟมตัวหนอน ในธุรกิจขนส่งพัสดุ-เดลิเวรี่
นายวราวุธ กล่าวว่า หลังจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตนได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมและสนับสนุนสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ที่มีการแปรรูปผักตบชวาเป็นสินค้าเฟอร์นิเจอร์ และพบว่านอกจากชาวบ้านในพื้นที่จะสามารถผลิตสินค้าเป็นงานหัตถกรรม ที่ต้องอาศัยทักษะฝืมือขั้นสูงแล้วนั้น ยังมีการแปรรูปผักตบชวา เป็นวัสดุกันกระแทก ที่มีความยืดหยุ่น แข็งแรง รับแรงกระแทกได้ดี มีขั้นตอนการผลิตที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และสามารถ Scaling เพิ่มจำนวนในปริมาณมาก เหมาะแก่การใช้ขนส่งสินค้าที่แตกหักง่าย จึงเล็งเห็นโอกาส ในการนำผักตบชวากันกระแทก เข้าสู่ supply chain ธุรกิจขนส่งพัสดุ-เดลิเวรี่ แทนเม็ดโฟมกันกระแทก ที่เป็นปัญหาเรื้อรังทางสิ่งแวดล้อมมาหลายสิบปี เนื่องจากเป็นขยะประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่ไม่มีวันย่อยสลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่มูลค่าธุรกิจขนส่งพัสดุในประเทศไทยได้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากรายงานของ Economic Intelligence Center ดังนี้
ปี 2559 : 18,000 ล้านบาท
ปี 2560 : 25,000 ล้านบาท
ปี 2561 : 35,000 ล้านบาท
ปี 2562 : 49,000 ล้านบาท
ปี 2563 : 66,000 ล้านบาท
ซึ่งสิ่งที่ตามมา นอกเหนือจากมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว คือปริมาณขยะแพคเกจจิ้ง และโฟมกันกระแทก ในจำนวนมหาศาลหลายล้านตัน ที่ตกเป็นภาระทางงบประมาณแผ่นดิน
ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ประกอบการขนาดเล็กอยู่ 2-3 ราย ที่ผลิตผักตบชวากันกระแทก โดยมีการรับซื้อผักตบชวาจากชาวบ้านท้องถิ่น นำมาผ่านขั้นตอนการผลิตและติดแบรนด์จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด สามารถสร้างกระแส การขนส่งสินค้าด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในกลุ่มผู้บริโภคสาย Eco-Friendly กลุ่มเล็กๆ แต่ยังคงขาดการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐ ทำให้ยังไม่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาขยะจากธุรกิจขนส่งพัสดุในภาพรวมได้
ตนจึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วยทีมงานพรรคชาติไทยพัฒนา โดยมี ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบ VDO Conference เพื่อพูดคุยถึงโอกาสทางธุรกิจ และแนวทางผลักดันการใช้ผักตบชวากันกระแทก โดยมีตัวแทนสมาคมธุรกิจค้าปลีก ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุชั้นนำของประเทศไทย เช่น ไปรษณีย์ไทย KERRY ฯลฯ และผู้ประกอบการธุรกิจผักตบชวากันกระแทก เข้าร่วมประชุม
นายวราวุธกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการจับ"ผู้ซื้อ"(ธุรกิจเดลิเวรี่) มาพบ"ผู้ขาย"(ผักตบชวากันกระแทก) โดยตรง โดยคาดหวังให้เกิดดีลทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจริง สร้างดีมานด์ ความต้องการใช้ผักตบชวา ในระดับ Mass Consuming ในจำนวนมหาศาลมากพอ ที่จะสร้างมูลค่าให้ผักตบ สร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำทั่วประเทศ หากทำได้จริงจะเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว คือ
1. ลดการสร้างปริมาณขยะโฟมกันกระแทก
2. สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนในการกำจัดผักตบชวาที่เป็นปัญหาในแหล่งน้ำธรรมชาติ
3.สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ สร้างอาชีพ กระจายรายได้ ให้คนตัวเล็กในท้องถิ่น
นายวราวุธ เผยว่า ผลการประชุมหารือ เป็นไปด้วยดี ได้ข้อสรุปที่น่าพึงพอใจ โดยเบื้องต้น บริษัทไปรษณีย์ไทย และ บริษัท KERRY ได้แสดงความยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ผักตบชวากันกระแทก ทดแทนการใช้เม็ดโฟม โดยหลังจากนี้ จะมีการแบ่งปันข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ทั้งในเรื่องคุณภาพและปริมาณความต้องการใช้งาน เพื่อเริ่มเปลี่ยนผ่านการใช้วัสดุกันกระแทกในธุรกิจขนส่ง จากโฟมไปเป็นผักตบชวา
นายวราวุธ กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวเล็กๆในแผนการใหญ่ ที่ตนตั้งใจจะทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทย พร้อมรับมาตรการทางสิ่งแวดล้อม อันเกี่ยวกับ Carbon Neutrality / Carbon Tax / Carbon Credit ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าบนเวทีโลกในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งหากประเทศไทยไม่รีบปรับตัว อาจสูญเสียโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล
(ขออนุญาตินำมาแชร์ค่ะ)
ที่มา https://www.chartthaipattana.or.th/%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%b8%e0%b8%98-%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b8%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a8%e0%b8%a3%e0%b8%a9%e0%b8%90%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a7-%e0%b9%83%e0%b8%8a%e0%b9%89%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%95%e0%b8%9a%e0%b9%81%e0%b8%97%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%9f%e0%b8%a1%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%81%e0%b8%97%e0%b8%81-%e0%b8%9b%e0%b8%93-%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b9%88-%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%9a/